พาณิชย์เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สั่งบูมหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ 8 แห่ง เป็นจุดเช็กอินใหม่ หวังดึงคนเข้าไปเที่ยว เข้าไปเลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ หลังเข้าไปช่วยพัฒนาจนเกษตรกรมีความเข้มแข็ง สามารถผลิตสินค้าป้อนออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง จัดกิจกรรม Ride to Success ปั่นเพื่อเปลี่ยนมุมมองใหม่วิถีเกษตรอินทรีย์ดีต่อกายและใจ ที่หมู่บ้านอินทรีย์บ้านยางแดง สนามชัยเขต ฉะเชิงเทรา ปี 61 เตรียมผลักดันเพิ่มหมู่บ้านอินทรีย์เป็น 12 แห่งในปี 61 และเพิ่มฟาร์ม เอาเล็ทเป็น 19 แห่ง เตรียมจัดกิจกรรม Ride to Success ปั่นเพื่อเปลี่ยนมุมมองใหม่วิถีเกษตรอินทรีย์ดีต่อกายและใจ หวังจุดประกายให้คนไทยให้ความสำคัญ และหันมาท่องเที่ยวเชิงอินทรีย์กันมากขึ้น
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้ทำแผนผลักดันหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ 8 แห่งที่กระทรวงพาณิชย์เข้าไปส่งเสริมให้เป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ที่ต้องเดินทางเข้าไปเยี่ยมชม ไปดูกระบวนการเพาะปลูกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ดูวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์นั้นได้มีการจัดกิจกรรม Ride to Success (ปั่นเพื่อเปลี่ยน) มุมมองใหม่วิถึเกษตรอินทรีย์ดีต่อกายและใจ ณ หมู่บ้านยางแดง หนึ่งในหมู่บ้านอินทรีย์ที่กระทรวงพาณิชย์ให้การสนับสนุน ตั้งอยู่ตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ 20-21 ม.ค.2561 เพื่อช่วยโปรโมตให้หมู่บ้านอินทรีย์บ้านยางแดงเป็นที่รู้จัก และดึงดูดให้คนเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีให้เกษตรกร ชาวบ้าน และชุมชน มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น
“กระทรวงฯ จะนำคณะผู้บริหารพาณิชย์ ดารา นักแสดง สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจ ไปร่วมกิจกรรมปั่นในครั้งนี้ เพื่อเป็นการโปรโมตหมู่บ้านอินทรีย์บ้านยางแดงให้เป็นที่รู้จัก และต้องการที่จะดึงดูดให้คนเข้ามาท่องเที่ยว ถือเป็นการเริ่มต้นนโยบายการผลักดันให้หมู่บ้านอินทรีย์เป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ของคนไทยที่มีใจรักสุขภาพ และรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจากนี้ กระทรวงฯ จะดำเนินการเข้าไปส่งเสริมและผลักดันหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์อื่นๆ ให้เป็นที่รู้จักต่อไป”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
สำหรับกิจกรรมที่จะจัดในครั้งนี้ นอกเหนือจากการปั่น จะมีการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ชุมชน การจัดนิทรรศการและการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการผลิตและการตลาดเกษตรอินทรีย์ การจัดพิธีมอบป้ายหมู่บ้านอินทรีย์ การมอบเงินสนับสนุนการรับรองผลิตภัณฑ์อินทรีย์เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานสากล และการเปิดตัวโครงการตะกร้าปันผักของกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต ตลอดจนการมอบเงินบริจาคให้แก่โรงพยาบาลสนามชัยเขตและโรงเรียนบ้านยางแดง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์การศึกษาที่ขาดแคลนด้วย
“ทั้งนี้ หมู่บ้านอินทรีย์บ้านยางแดง เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรอินทรีย์กลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลเขาไม้แก้ว กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลนนทรี กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลดงบัง กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลวังตาล และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลหนองแก้ว โดยการดำเนินการ ชุมชนมีการวางรากฐานกระบวนการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม เน้นการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย และสหกรณ์กรีนเนท จำกัด เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์ยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และรายได้ รวมถึงฟื้นฟูอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและพันธุกรรมพืชท้องถิ่น และเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับประเทศ และระดับโลก ได้แก่ IFOAM , EU และ CANADA”
“การจะเป็นหมู่บ้านอินทรีย์นั้นมีข้อกำหนดได้แก่ แต่ละหมู่บ้านจะต้องมีเกษตรกรไม่ต่ำกว่า50% ของครัวเรือนทั้งหมด เกษตรกรต้องพร้อมใจกันเข้าสู่ระบบการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อผลิตสินค้าในชุมชน และนำผลผลิตจำหน่ายทั้งภายใน และภายนอกชุมชน ในการนี้กระทรวงพาณิชย์ จะเข้าไปดูแลตั้งแต่การผลิต การพัฒนาคุณภาพสินค้า การสร้างมาตรฐานให้กับสินค้า เพื่อให้ตลาดเชื่อถือ และจะเพิ่มช่องทางการตลาด ทั้งการเชื่อมผลผลิตไปจำหน่ายในช่องทางที่มีอยู่ ทั้งใน Farm Outlet ห้างสรรพสินค้า และผลักดันส่งออกไปต่างประเทศ รวมถึงช่วยหาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์รองรับ เร่งสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคในประเทศให้เห็นถึงความสำคัญของการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ ส่วนในการขยายตลาดต่างประเทศ รวมถึงผลักดันและนำผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์
เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น งานไทยเฟ็กซ์ และงาน BIOFACH ซึ่งเป็นงานจัดแสดงสินค้าอินทรีย์นานาชาติที่ใหญ่และมีเครือข่ายกว้างขวางที่สุดในโลก เพื่อสร้างโอกาสส่งออกให้กับสินค้าอินทรีย์ของไทย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อไปว่ากระทรวงฯ ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้มีหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นมาได้แล้ว 8 แห่ง แผนต่อไปจะผลักดันให้ทั้ง 8 แห่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ที่จะผลักดันให้คนเข้าไปเที่ยว ไปชม ไปเลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ ไปดูวิถีชีวิตชาวบ้าน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้าน และประชาชนในหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ มีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งรายได้จากการจำหน่ายสินค้า รายได้จากคนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว และส่งผลให้เศรษฐกิจในระดับฐานรากขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ 8 แห่งที่กระทรวงฯ ได้เข้าไปส่งเสริมนั้น ปัจจุบันเกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ออกมาจำหน่ายในท้องตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละหมู่บ้านก็มีสินค้าที่โดดเด่นแตกต่างกัน และสินค้าที่ผลิตได้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานระดับโลก เพราะได้รับการรับรองมาตรฐาน ทั้งมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) มาตรฐานของสหภาพยุโรป (อียู) แคนาดา มาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) และมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ เป็นต้น
“กระทรวงตั้งเป้าเพิ่มหมู่บ้านอินทรีย์ (Organic Village) อีก 4 แห่งภายในปี 2561 จะทำให้มีหมู่บ้านอินทรีย์ทั้งสิ้น 12 แห่ง และหุบเขาอินทรีย์ 1 แห่ง (Organic Valley) รวมถึงขยาย ออร์แกนิก ฟาร์ม เอาเล็ท เพิ่มอีก 4 แห่งในปี 2561 จากปัจจุบันมีอยู่ 15 แห่ง ทำให้ภายในปี 2561 มีหมู่บ้านอินทรีย์ทั้งสิ้น 12 แห่ง หุบเขาอินทรีย์ 1 แห่ง และออร์แกนิก ฟาร์ม เอาเล็ท 19 แห่ง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
ปัจจุบันหมู่บ้านอินทรีย์ทั้ง 8 แห่งมีดังนี้ 1.หมู่บ้านริมสีม่วง ต.ริมสีม่วง อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ได้รับการส่งเสริมเป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ เดือนก.พ.2559 มีสินค้าเด่น คือ มันหวานญี่ปุ่น มะนาว มะม่วง แมคคาเดเมีย สรตอเบอร์รี่ กล้วย พืชผักเมืองหนาว และกาแฟ 2.หมู่บ้านห้วยพลู อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ได้รับการส่งเสริมเดือนส.ค.2559 มีสินค้าเด่น คือ ข้าวหอมปทุม ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ผักสวนครัว 3.หมู่บ้านโสกขุมปูน ต.นาโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร ได้รับการส่งเสริมเดือนส.ค.2559 มีสินค้าเด่น คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวมะลิแดง ผักสวนครัว 4.หมู่บ้านทัพไทย ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ได้รับการส่งเสริมเดือนก.ย.2559 มีสินค้าเด่น คือ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมนิล 5.หมู่บ้านหนองสะโน ต.ดอนนางหงส์ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ได้รับการส่งเสริมเดือนมิ.ย.2560 มีสินค้าเด่น คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวสารบรรจุถุง (ข้าวหอมมะลิและข้าวกล้องหอมมะลิ) 6.หมู่บ้านหนองหอย ต.กุดชุมแสง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ได้รับการส่งเสริมเดือนมิ.ย.2560 มีสินค้าเด่น คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวสารบรรจุถุง (ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียว กข.6) ใบหม่อน กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง ตะไคร้ ฟักทอง 7.หมู่บ้านท่าเดื่อน้อย ต.นิคมสร้างตนเอง อ.เมือง จ.ลพบุรี ได้รับการส่งเสริมเดือนก.ย.2560 มีสินค้าเด่น คือ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวทับทิมชุมแพ ข้าวโพด งาดำ ถั่วขาว ผักสวนครัว ผลไม้ พืชสมุนไพร และ 8.หมู่บ้าน บางพะเนียง ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับการส่งเสริมเดือนก.ย.2560 มีสินค้าเด่น คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอรี่ ผลไม้ ผักสวนครัว พืชสมุนไพร